ไทยลีก แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดการแข่งขัน ฟุตบอลอาชีพ ภายใต้สถานการณ์โควิด ทางด้านคณะทำงานวอน ศบค.พิจารณาอนุมัติให้เตะไทยลีกได้เพราะมั่นใจมาตรการจัดการแข่งเข้มข้นพอ

ตามที่ บริษัท ไทยลีก จำกัด ได้รับมอบหมายจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬา ฟุตบอลอาชีพ ประจำปี 2564/65 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการแพร่กระจายของโรคไปยังหลายพื้นที่ อาจส่งผลกระทบต่อการ แข่งขัน นั้น
ล่าสุด บริษัท ไทยลีก จำกัด จึงได้จัดการประชุมสโมสรสมาชิกระดับไทยลีก 1 (โตโยต้า ไทยลีก) และไทยลีก 2 (เอ็ม-150 แชมเปี้ยนชิพ) เพื่อชี้แจงแนวทางการจัดการแข่งขัน และรับฟังความคิดเห็นจากสโมสรสมาชิก โดยที่ประชุมได้มีข้อสรุปให้บริษัท ไทยลีก จำกัด ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงาน ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายจัดการแข่งขัน และตัวแทนจากสโมสรสมาชิก เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ ประจำปี 2564/65 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้น เพื่อให้การจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สอดคล้องกับมาตรการจากทางภาครัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

บทบาท และหน้าที่ของคณะทำงานเพื่อจัดการแข่งขัน ฟุตบอลอาชีพ ภายใต้สถานการณ์โควิด
จากการประชุมกำหนดให้คณะทำงานมีหน้าที่ดังนี้
1. กำหนดรูปแบบการจัดโปรแกรมการแข่งขัน กีฬา ฟุตบอลอาชีพ ประจำปี 2564/65 ภายใต้สถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยคำนึงถึงมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามที่ภาครัฐกำหนด
- กำหนดคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน Standard Operating Procedure (SOP) สำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ ประจำปี 2564/65 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
3. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือ ตามที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท ไทยลีก จำกัด

วอน “ศบค.” เห็นใจอนุมัติให้จัดการแข่งขันฟุตบอล ไทยลีก เพื่อวงการฟุตบอลได้เดินหน้าต่อ
กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยลีก จำกัด เปิดเผยถึงประเด็น การจัดแข่งขันฟุตบอลอาชีพไทยในฤดูกาล 2564-65(2021-22) จำเป็นต้องดำเนินต่อไปให้ได้ ซึ่งหลังจากเลื่อนการแข่งขันมา 2 ครั้งแล้ว ยอมรับว่าถึงเวลานี้แทบไม่มีมุมให้ถอยอีกแล้ว วอน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เข้าใจในภาวะเข้าตาจนของอุตสาหกรรมฟุตบอล หลังต้องเลื่อนฟุตบอลไทยลีก1-2 เลื่อนแข่งขันมาแล้วว่า “คณะทำงานร่างแผนการจัดแข่งขัน จะมีผู้แทนแต่ละสโมสรเข้าร่วม คาดว่าจะเสนอไม่เกินกลางเดือน ส.ค. ทั้งนี้ตนวอนขอให้ ศบค.เห็นใจ เข้าใจอุตสาหกรรมฟุตบอล ที่จำเป็นต้องดำเนินต่อไป
หากถอยมากกว่านี้ จะเกิดความเสียหาย ผลกระทบจะตามมาเยอะมาก ทั้งกับนักกีฬา กว่า 3 พันคน, สโมสรจะสู้ไม่ไหวส่วนหนึ่งคือเป็นผลต่อเนื่องปีที่แล้ว ความเสียหายอย่างเช่น รายได้สโมสร แค่ไม่สามารถให้แฟนเข้าชมได้ ก็เสียรายได้เรื่องบัตรเข้าชม, การจำหน่ายของที่ระลึก ขณะเดียวกันมูลค่าทีมลดลงเมื่อไม่มีแฟนบอล เพราะสปอนเซอร์ก็ต้องการจัดกิจกรรมหน้าสนาม เราเข้าใจสถานการณ์ ให้ความร่วมมือภาครัฐมาตลอด แต่เดิมเรามีแผนเปิดฤดูกาลปลายเดือน ก.ค. แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดมากขึ้นก็ถอยมากลางเดือน ส.ค. พอไม่ดีขึ้น ก็ถอยอีกรอบ ไปต้นเดือน ก.ย.”
นาย กรวีร์ กล่าวต่อไปว่า อีกอย่างหนึ่งที่ผ่านมา การจัดฟุตบอลอาชีพไม่เคยทำให้เกิดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดเลย อย่างปีที่แล้ว ไม่ว่าจะแข่งแบบมีคนดูหรือไม่ ก็ไม่มีการแพร่เชื้อ ในช่วงฤดูแข่งขันนักกีฬาก็ไม่มีคนติดเชื้อ แสดงว่าทุกทีมคุมเข้ม รู้มาตรการ หรือแม้แต่การที่จัดฟุตบอลเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก 3 กลุ่ม ก็ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย จึงอยากให้มั่นใจในมาตรการ
“หากจัดแข่งได้ ภาครัฐก็จะไม่ต้องมาเสียงบประมาณเยียวยา วงการฟุตบอลไม่อยากเป็นภาระในด้านนี้ ขอเพียงอนุญาตให้แข่งขัน ยืนยันว่ามีมาตรการที่ดี ทุกภาคส่วนจะต้องเคร่งครัด คุมเข้มแน่นอน เราเตรียมแผนอยู่แล้ว ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่มีหละหลวม จะไม่เกิดคลัสเตอร์จากฟุตบอล หากมีคลัสเตอร์ขึ้นมาจะมาลงโทษก็เข้าใจ แต่อย่าเพิ่งลงโทษโดยที่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น มาตรการขั้นสุดท้าย หาก ศบค.ไม่อนุมัติแผนการเดิม ก็ไปสู่บับเบิลแอนด์ซีล ซึ่งต้องบอกว่าไม่ใช่ง่ายๆ ใช้งบประมาณมหาศาล ไม่อยากให้ถึงจุดนั้น ตอนนี้ บจก.ไทยลีก ทำงานเต็มที่ ลืมไปได้เลยว่าจะไม่ได้แข่ง ยังไงก็ต้องแข่ง แต่โจทย์คือจะแข่งด้วยวิธีการอะไร”