สหรัฐ จับตาอิหร่าน หลังจากเหตุการณ์จี้เรือรบมีความตึงเครียด

ทางการ สหรัฐ ระบุเมื่อวันพุธที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา ว่าสงสัย อิหร่าน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจี้เรือในอ่าวโอมาน โดยให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันกับทางการอังกฤษเพื่อตอบโต้เหตุโจมตีร้ายแรงครั้งนี้ โดยทางการโอมานกล่าวว่า เรือAsphalt Princess ที่เป็นเรือบรรทุกน้ำมัน มีส่วนเกี่ยวข้องกับ
เหตุการณ์จี้เรือในน่านน้ำสากล ทางด้านสหรัฐและอังกฤษกล่าวว่า เหตุการณ์ที่ยังคงคลุมเครือที่อ่าวโอมานนี้ได้ข้อสรุปหลังจากผ่านไปหนึ่งวัน ซึ่งคาดว่าผู้ที่ทำการก่อเหตุได้ออกจากเรือที่ติดธงปานามามาก่อเหตุ “เราเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้เป็นชาวอิหร่าน แต่เรายังไม่สามารถสรุปข้อมูลทั้งหมดได้ในเวลานี้”
เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงวอชิงตัน “อิหร่านใช้รูปแบบการสู้รบในแง่ของการโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวในภูมิภาค และแน่นอนว่ารวมไปถึงการโจมตีทางทะเลเหล่านี้ด้วย” ไพรซ์ กล่าวเพิ่มเติม รวมทั้งระบุว่า สถานการณ์ล่าสุดนี้อาจจะยังคงจะเกิดขึ้นต่อไปอีกในอนาคต
เหตุการณ์การจี้เรือเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเพิ่มร้อยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐ กับอิหร่าน
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากลักษณะของการโจมตีเรือ และถูกเชื่อมโยงว่าอิหร่านมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ทั้ง สหรัฐ และอิสราเอลกล่าวว่า อิหร่านได้ดำเนินการโจมตีด้วยโดรนในโอมาน
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ใส่เรือบรรทุกน้ำมัน MT Mercer Street ที่ประดับธงไลบีเรีย เป็นเรือที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ แต่บริหารจัดการโดยโซดิแอค มาริไทม์ บริษัทจัดการเรือระหว่างประเทศ ที่มีมหาเศรษฐีชาวอิสราเอลเป็นเจ้าของ ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2ราย แต่อิหร่านได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และกล่าวว่าสหรัฐและอิสราเอลไม่มีหลักฐานเชื่อมโยง หลังจากนั้น นาฟตาลี เบนเนตต์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวหาเตหะราน “พยายามเลี่ยงความรับผิดชอบ” สำหรับเหตุโจมตี และเรียกมันว่าเป็นการปฏิเสธที่ขี้ขลาดตาขาว
อย่างไรก็ตาม ทางโฆษก กระทรวงการต่างประเทศ อิหร่าน ตอบโต้ในประเด็นนี้ ว่า “รัฐบาลไซออนิสต์ (อิสราเอล) ก่อความไร้เสถียรภาพ ข่มขู่คุกคามและใช้ความรุนแรง และเตหะรานขอประณามคำกล่าวหาต่างๆ ที่กล่าวหาว่าอิหร่านมีส่วนเกี่ยวข้อง” โฆษกระบุ “คำกล่าวหาต่างๆ เหล่านี้ อิสราเอลมีเจตนาเบี่ยงเบนความสนใจไปจากข้อเท็จจริงต่างๆ และไม่มีมูลความจริง”
สำหรับเหตุการณ์นี้ ทั้งอิหร่านและอิสราเอลต่างกล่าวหากันและกัน ว่าเป็นคนลงมือโจมตีเรือของอีกฝ่ายในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สำหรับความตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซียพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่สหรัฐ กลับมาคว่ำบาตรอิหร่านในปี 2018 หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกา ณ ขณะนั้น ถอนวอชิงตันออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่อิหร่านทำไว้กับบรรดาชาติมหาอำนาจโลก

การตอบสนองที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ แอนโทนี บลิงเคน และ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ โดมินิก ราบ พูดคุยทางโทรศัพท์ถึง “ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการตอบโต้การโจมตีของอิหร่าน” ไพรซ์ กล่าว
นอกจากนี้ เบนนี แกนซ์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอิสราเอล เรียกร้องให้เอกอัครราชทูตในกรุงเยรูซาเลมแสดงท่าที “ให้อิหร่านรับผิดชอบต่อการกระทำของตน” พร้อมทั้งระบุชื่อผู้อาวุโสชาวอิหร่านในหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม ซึ่งเขารับผิดชอบในการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันและการโจมตีอื่นๆ “Saeed Ara Jani เป็นหัวหน้ากองบัญชาการ UAV (ยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับ) ของหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม
และนี่คือชายที่รับผิดชอบการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในอ่าวโอมานด้วย” แกนซ์ กล่าว สำหรับความตึงเครียดมีขึ้นในขณะที่อิหร่านเปิดตัวประธานาธิบดีคนที่ 8 ของสาธารณรัฐอิสลาม ซึ่งก็คือ Ebrahim Raisi ผู้ที่เป็นนักการเมืองที่มีแนวนโยบายแข็งกร้าว ซึ่งเขาสืบทอดตำแหน่งต่อจากฮัสซัน รูฮานี ซึ่งพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับตะวันตก และฝ่ายบริหารของเขาพยายามเจรจาฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์กับสหรัฐ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จในก่อนหน้านี้